ทำไมเมื่อเวลาผ่านไปเราถึงแก่?
ทำไมเมื่อเวลาผ่านไปเราถึงแก่?
ผิวหนังที่เริ่มไม่เต่งตึง เส้นผมที่เริ่มกลายเป็นสีขาวซีด ขนหนึ่งเส้นที่ไปขึ้นบนตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายที่มันไม่ควรจะขึ้น สิ่งเหล่านี้คืออาการที่สามารถพบเจอได้กับผู้สูงอายุทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ในมนุษย์ แต่สัตว์เกือบทุกชิ้นก็มีอาการเหล่านี้เช่นกันเมื่ออายุของพวกมันเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มีสัตว์อยู่หนึ่งชนิดเหมือนกันที่ไม่ได้มีอาการแบบนั้น ชื่อของมันก็คือ “Moon jellyfish” หรือ “แมงกะพรุนพระจันทร์” ที่มีชีวิตดั่งอมตะ
แมงกะพรุนพระจันทร์นั้นมีช่วงชีวิตที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกแมงกะพรุนพระจันทร์จะมีรูปร่างคล้ายดอกไม้ทะเลเล็ก ๆ แล้วจึงเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกลายมาเป็นรูปร่างแมงกะพรุนอย่างที่เห็นอยู่ในที่สุด สิ่งมีชีวิตจำพวกแมงกะพรุนนี้มักจะสามารถสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ รวมถึงความสามารถในการซ่อมแซมร่างกายของตัวเอง เมื่อแมงกะพรุนพวกนี้ตาย เซลล์ของมันสามารถซ่อมแซมตัวเองแล้วเกิดใหม่ได้!
แต่กับมนุษย์แล้ว การชราภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว มีหลายสาเหตุมากที่เป็นสาเหตุของการมีอายุ ซึ่งทางผู้เขียนได้ลองเรียบเรียงมาตามนี้ครับ
- ความเสียหายที่เกิดจากการออกซิเดชัน คือการที่กระบวนการเมตาบอลิซึม (กระบวนการเผาผลาญพลังงาน) ของเรานั้นค่อย ๆ ทำลายตัวเราเองอยู่ที่ละเล็กน้อยไปเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ที่สามารถออกซิไดซ์และสร้างความเสียหายให้แก่ เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
- การกลายพันธุ์ของเซลล์ เมื่อเวลาผ่านไป DNA ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา ทำให้เซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์ก็มีเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ การทำงานของเอนไซม์ก็ด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้การซ่อมแซมร่างกายไม่เป็นไปตามปกติ
- ความเสียหายจากการที่ไมโทคอนเดรียทำงานผิดปกติ ไมโทคอนเดรียนั้นเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายกว่านิวเคลียสใน DNA ประมาณ 10 – 20 เท่า ซึ่งสามารถทำให้การสร้างพลังงานนั้นลดน้อยลง การผลิต ROS ที่ทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้เซลล์ตายได้
- การหดสั้นลงของ telomeres คือการที่โครโมโซมของเซลล์นั้นหดสั้นลงเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการแบ่งเซลล์จากกระบวนการ DNA Replication ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดความสามารถในการแบ่งเซลล์ กระบวนการนี้สามารถบำรุงรักษาได้ด้วย telomerase แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นไม่ค่อยมีเอนไซม์ตัวนี้
- การสูญเสีย Epigenome คือการที่เซลล์นั้นศูนย์เสียลักษณะตัวตนของตัวเองไป ทำให้เซลล์นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อื่นแทน เช่น การที่มีขนที่เหมือนผมขึ้นในที่ประหลาดๆบนร่างกาย (แขน ขา หลัง) ราวกับว่าร่างกายเราไม่รู้ว่าควรจะเอาขนนั้นไปไว้บนหัว
สาเหตุพวกนี้หลายอย่างเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งนำพาร่างกายของพวกเราทุกคนไปสู่วัยชราอย่างช้า ๆ หรือบางคนก็อาจจะทำกิจกรรมบางอย่างที่ไปเร่งกระบวนการตัวของเราก็ได้ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้เราจะลองมาพูดถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้ตอนนี้ เพื่อเป็นการชะลอการแก่ตัวของเราดูครับ แต่ก่อนที่จะพูดถึงการที่จะมีอายุยืนนั้น หลายคนก็อาจจะมีข้อสงสัยว่า คนแก่ส่วนมากก็ล้วนจะอมโรคกันทั้งนั้น แล้วมันจะเป็นการดีจริงหรือ ที่เราจะอายุยืนขึ้นแต่ต้องนอนซมอยู่บนเตียงไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้? ต้องยอมรับก่อนเลยว่ามีผลวิจัยจริง ๆ ว่าโรคต่าง ๆ นั้นมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะบอกต่อไปนี้ไม่ใช่เพียงแค่การยืดอายุ แต่เป็นการยืดอายุแบบสุขภาพดีด้วย
ก่อนอื่นลองมาเข้าใจวิธีการเอาตัวรอดของแบคทีเรียกันก่อนสักนิด แบคทีเรียนั้นมีรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ 2 อย่าง คือ
1.หากสภาพแวดล้อมเป็นใจ เหมาะแก่การดำรงชีวิต พวกมันจะใช้พลังงานของมันในการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์
2.หากสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ เช่นอากาศร้อนมากหรือหนาวมาก ซึ่งไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต แบคทีเรียพวกนี้จะทำการป้องกันและซ่อมแซมร่างกายของตัวเอง
หากว่าเราอยากมีชีวิตที่ยืนยาวแบบสุขภาพดีแล้วละก็ เราก็คงจะต้องทำตามแบคทีเรียในข้อสอง ซึ่งนั้นคือการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำร่างกายรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาตัวเองเอาไว้ ถ้าจะให้พูดเป็นรูปธรรมง่ายๆก็คือ
- การหลีกเลี่ยงการทำให้ DNA เกิดความเสียหาย ข้อนี่เป็นข้อพิเศษ เพราะว่าแบคทีเรียอาจจะไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองจากความเสียหายในระดับ DNA ได้ แต่เราพอที่จะทำได้อยู่ครับ นั้นก็คือการป้องกันตัวเองจาก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงนั้นเอง พูดให้เป็นภาษามนุษย์อีกทีก็คือ หลีกเลี่ยงการโดนแดดแรง ๆ (ไม่ออกแดดบ่อย หรือทากันแดด) หรือการโดนรังสีต่าง ๆ นั้นเอง
- กินให้น้อยลง เป็นการลดปริมาณพลังงานแคลอรีที่ได้รับ หรือการทำ intermittent fasting
- เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ ออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ ให้ร่างกายรู้สึกเหมือนคุณกำลังถูกสุนัขวิ่งไล่กวดอยู่
- อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งหนาวเย็นจัดๆหรือร้อนจัดๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ อยากทำแน่นอนครับ (ผู้เขียนเองก็เช่นกัน)
จะเห็นได้ว่าแต่ละสิ่งที่ยกมาเพื่อทำให้ชีวิตของเรายืดยาวนั้น ดูแล้วไม่น่าจะใช่สิ่งที่คนทั่วไปอยากทำเสียเท่าไหร่ การมีชีวิตที่ยืนยาวอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ผู้เขียนไม่ได้ต้องการที่จะบังคับให้ผู้อ่านต้องทำตามทุกข้อ แต่การมีสุขภาพที่ดีถือเป็นกำไรของชีวิตครับ เพราะฉะนั้นเรามาลองทำให้สิ่งที่พอทำได้เพื่อทำให้เรามีสุขภาพที่ดีกันดีกว่า
แหล่งที่มา
Gilbert SF. Developmental Biology. 6th edition. Sunderland (MA): Sinauer Associates; 2000. Aging: The Biology of Senescence. Retrieved February 12, 2020, From: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK10041/
University of Rochester. (2019, April 23). ‘Longevity gene’ responsible for more efficient DNA repair. Retrieved February 12, 2020, From: https://www.sciencedaily.com/releases/2019/04/190423133511.htm